วัยเกษียณ 5 สไตล์อยากเป็นแบบไหนเลือกได้เลย

วัยเกษียณ 5 สไตล์อยากเป็นแบบไหนเลือกได้เลย

การปลดระวางจากการทำงานหาเงิน แล้วใช้เวลาไปกับครอบครัว หยุดทำงานเพื่อพักผ่อนอย่างสบายใจ และได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก เป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา

โดยทั่วไปมนุษย์เงินเดือนจะเกษียณ เมื่ออายุครบ 60 ปี ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนบางที่ วางกฏระเบียบให้พนักงานเกษียณทันทีที่ 50-55 ปี และคนสมัยใหม่บางคนก็วางเป้าหมายการเกษียณให้กับตัวเองไว้เร็วกว่านั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ คนไทยมีแนวโน้มที่จะเลื่อนเวลาการเกษียณอายุเร็วขึ้น เพราะอยากใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองคิดและวางแผนไว้ ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีหลายคนเริ่มไม่สนุกกับการหาเช้ากินค่ำแล้ว

แต่ก่อนที่จะทำอะไรหุนหันพลันแล่น อยากปลดระวางตัวเองให้เร็วที่สุด ลองตรวจสอบความพร้อมของตัวเองดูก่อน ว่าพร้อมที่จะเกษียณแล้วหรือยัง?  เพราะภาพยามเกษียณที่วาดไว้อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด!! ถ้าใครยังมองภาพไม่ออก ลองมาดู วัยเกษียณ 5 สไตล์ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เพื่อเช็คดูว่าแบบไหนที่คุณอยากจะเป็น ?

แบบที่ 1: เตรียมเงินไว้ไม่พอ ต้องรอลูกหลานมาเลี้ยงดู

 


ความเป็นจริงคือ พ่อแม่ หลายๆคนเลี้ยงดูลูกเพื่อให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่การงาน และคาดหวังไว้ว่าลูกจะสามารถดูแลพ่อแม่ได้ยามที่แก่ตัวลง ไม่มีเรี่ยวแรง และไม่สามารถหาเงินได้เหมือนอย่างเคย

แต่คำถามคือ.. “เราสามารถฝากความหวังทั้งหมดไว้กับลูกได้หรือ?”

ปัจจุบันบ้านพักคนชราชื่อดังอย่าง “บ้านบางแค” สามารถรับผู้สูงอายุได้เพียง 250 คน ที่สำคัญคือตอนนี้เต็มอัตราแล้ว และยังมีคิวอีกเป็นพันคน !! ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามีหลายครอบครัวที่ลูกหลานไม่สามารถดูแลผู้ใหญ่ในบ้านได้ดีพอ อาจจะเพราะไม่มีเวลา หรือไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูก็ได้

ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานมองเราเป็น “ภาระ” ทางเดียวที่ควรจะทำ คือ เตรียมตัวเรื่องแผนการเกษียณเอาไว้ให้พร้อม เพราะคนส่วนมากที่ฝากความหวังยามเกษียณทั้งหมดไว้ที่ลูกหลาน มักจะเป็นคนที่เกิดความผิดพลาดในการวางแผนเกษียณ จนต้องพึ่งพาลูกหลานในที่สุด ถ้าโชคดีมีลูกคอยเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ถ้าไม่มี..ก็เตรียมตัวต่อคิวที่บ้านพักคนชราได้เลย !

แบบที่ 2: ถึงเกษียณจากงานประจำ แต่ก็ต้องหาอะไรทำต่อไป

 


ในกรณีที่ไม่คิดจะพึ่งพาลูกหลาน หรือเป็นโสดอยู่ตัวคนเดียวได้จนถึงวัยเกษียณ แล้ววางแผนเกษียณช้าเกินไป ทำให้แผนที่วางไว้ไม่สำเร็จ ทางเลือกที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำคือ “หางานทำต่อไป!” เพื่อยืดระยะเวลาการเกษียณไปอีก

เมื่อตระหนักได้ว่าเงินที่ออมไว้ตอนทำงานไม่เพียงพอกับการเกษียณ ก็ต้องทำงานเพื่อหาเงินต่อไป แม้จะวางมือจากบริษัทหรือองค์กรไปแล้วก็ตาม โดยส่วนมากงานที่สามารถทำได้จะสอดคล้องกับทักษะ และความถนัดส่วนบุคคล เช่น ทำอาหาร ช่างซ่อม ทำสตูดิโอถ่ายรูป เป็นต้น หรือไม่ก็รับจ้างทำงานเป็น Part time โดยใช้ทักษะที่เคยทำงานมา เช่น รับจ้างทำบัญชี รับจ้างออกแบบ หรือคีย์ข้อมูล เป็นต้น

หากต้องการยืดระยะเพื่อให้เกษียณได้อย่างสมบูรณ์ ก็ควรจะหางานใหม่ทำ เพื่อหาเงินมาใช้และเก็บออมต่อไป ดังนั้นวางแผนเกษียณไว้แต่เนิ่นๆจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องลำบากในภายหลัง

แบบที่ 3: สร้างสินทรัพย์ผลิตเงินสดไว้ อุ่นใจกว่า

 


สิ่งที่คนกลุ่มนี้ทำ คือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้แบบ “Fixed-income” ซึ่งรายได้จะมาในรูปแบบของ ค่าเช่า ดอกเบี้ย หรือเงินปันผล รายได้แบบคงที่เหล่านี้จะมีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เป็นรายเดือน หรือรายปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินทรัพย์ที่เรานำเงินไปลงทุน

การซื้อที่ดิน บ้าน และคอนโดให้เช่า เป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการกระแสเงินสดไหลเข้าทุกเดือน วิธีคำนวณหาค่าเช่าที่เพียงพอกับวัยเกษียณ คือ ตั้งค่าเช่าจากค่าใช้จ่ายรายเดือน หากมีรายจ่ายภายหลังเกษียณ เดือนละ 30,000 บาท เราก็ควรจะลงทุนซื้อสินทรัพย์ จนกว่าจะได้รับค่าเช่าที่มากกว่าค่าใช้จ่าย 30,000 บาท อย่าลืมว่ายังมีเรื่องเงินเฟ้อที่จะส่งผลกับเงินในอนาคตอีกด้วย!!

แต่ถ้าเลือกลงทุนใน กองทุนรวม ตราสารหนี้ และหุ้น ก็คำนวณรายรับจากค่าใช้จ่ายรายปี เพราะลักษณะการจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินปันผล โดยทั่วไปจะออกมาเป็นรายปี ควรจะคัดเลือกกองทุนรวมหรือหุ้นที่เหมาะสม มีประวัติการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้กระแสเงินสดไหลเข้าทุกๆปี

ทางที่ดีควรจะกระจายการลงทุนไปในประเภทของสินทรัพย์ และสินทรัพย์รายตัวที่แตกต่างกัน เพื่อให้กระแสเงินสดไม่หยุดชะงัก ให้คิดไว้เสมอว่า..หากรายได้ที่เข้ามาเปรียบเสมือน “น้ำที่ไหลออกจากก๊อก” ถ้ามีก๊อกน้ำอันหนึ่งเสียไป การกระจายการลงทุนจะช่วยให้มีน้ำใช้จากก๊อกน้ำอันอื่นเสมอ

แบบที่ 4: เกษียณได้แน่นอน เพราะสะสมเงินก้อนจากการลงทุน

 


คนกลุ่มนี้จะเลือกการลงทุนที่เน้นการสะสมของเงินลงทุน และเพื่อให้เงินลงทุนเติบโตจนได้เงินก้อนใหญ่ไว้ใช้ในยามเกษียณ พวกเขาจะเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอัตราผลตอบแทนของเงินลงทุนต้องได้เยอะกว่าอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศมากๆ จึงจะสามารถใช้เงินก้อนนั้นต่อไปได้ในยามเกษียณ

เริ่มต้นด้วยการประเมินเงินกองทุนสำหรับการเกษียณก่อน เช่น ปัจจุบันอายุ 30 ปีใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท (ปีละ 360,000 บาท) จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี (มีเวลาเตรียมตัว 30 ปี) และคาดว่าจะอยู่จนถึงอายุ 85 (มีชีวิตอยู่ต่อหลังเกษียณ 25 ปี) เราก็ต้องเตรียมเงินทั้งหมดเป็นจำนวน 360,000 x 25 = 9 ล้านบาท (ซึ่งถ้ารวมอัตราเงินเฟ้อ 3% เข้าไปเงินสำหรับการเกษียณจะอยู่ที่ 9.27 ล้านบาทโดยประมาณ!!!)

เมื่อรู้ว่าแผนการเกษียณของเราต้องใช้เงินเท่าไหร่แล้ว และสามารถเลือกกองทุนรวม หรือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้เงินลงทุนเติบโตได้ตามเป้าหมาย แผนการเกษียณนั้นก็มีแนวโน้มที่จะสำเร็จได้อย่างแน่นอน

แบบที่ 5: เทวดาประจำบ้าน ลูกหลานเอาอกเอาใจ

 


ผู้ใหญ่แบบที่ใครๆก็รักคือ คนที่มีเงินใช้เพียงพอ จากเงินลงทุนที่เตรียมไว้ก่อนเกษียณ และได้รับค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผลจากสินทรัพย์ที่สร้างหรือลงทุนไว้ อีกทั้งยังมีเงินลงทุนเหลือไว้ให้สำหรับคนรุ่นต่อๆไป เหมือนเป็นเทวดาประจำบ้านเลยก็ว่าได้

คนกลุ่มนี้ลูกหลานจะเอาใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะไม่เป็นภาระให้กับพวกเขาแล้ว ยังมีเงินที่สามารถให้ความช่วยเหลือลูกหลานได้ในยามเดือดร้อนอีกด้วย แต่จะเป็นคนกลุ่มนี้ได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน วางแผนการเกษียณไว้อย่างรัดกุม และที่สำคัญคือมีวินัยที่ชัดเจนในการทำตามแผน

วัยเกษียณ 5 สไตล์ที่ต่างกัน คงสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกท่านได้ไม่น้อย ซึ่งแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือ “การวางแผนการเกษียณ” ที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่อยากเป็น หากมีการเตรียมพร้อมที่ดี และมีเวลาวางแผนที่มากพอ...เริ่มวางแผนกันตั้งแต่วันนี้ ชีวิตวัยเกษียณแบบที่ทุกคนอยากเป็นก็อยู่ไม่ไกลจนเกินเอื้อม!

Visitors: 175,212